ปรับพอร์ตตามวัย

0
3128

อย่างที่เราหลายๆ คนรู้กันดีว่าเวลาลงทุนควรที่จะเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน เพื่อกระจายความเสี่ยงของเงินทุนของเราให้ไปอยู่ในสินทรัพย์ที่แตกต่างกัน เพราะบางครั้งในช่วงเวลาหนึ่งสินทรัพย์บางตัวอาจทำกำไรได้ดี ในขณะที่บางตัวก็อาจเกิดผลขาดทุน โดยเราจะต้องไม่ลงทุนในอุตสาหกรรมเดียวกันทั้งหมด คราวนี้เรามาลองดูการจัดพอร์ตตามช่วงอายุกันดีกว่าว่า ช่วงอายุแบบไหนควรจะลงทุนอะไรกันบ้าง

asp-%e0%b8%9b%e0%b8%a3%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%9e%e0%b8%ad%e0%b8%a3%e0%b9%8c%e0%b8%955555555555
เริ่มที่อายุแรกเริ่มที่มีรายได้เป็นของตัวเองนั่นคือ อายุ 21-30 ปี
ซึ่งถือได้ว่าเป็นช่วงอายุของมนุษย์เงินเดือนที่โชคดีเลยทีเดียว เพราะยังไม่มีภาระหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายให้รับผิดชอบมากนัก และยังเหลือเวลาให้ลงทุนอีกหลายปี มีเวลาสำหรับการล้มลุกคลุกคลานได้อีกนาน ดังนั้นจึงสามารถเลือกลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงๆ ได้มากกว่าช่วงอายุอื่นๆ เช่น เราสามารถเลือกลงทุนในหุ้นได้ถึง 90% และอีก 10% ก็เลือกลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ เช่น ตราสารหนี้ หรือเงินฝากประจำก็ได้
ช่วงอายุต่อมาจะเป็นช่วงที่เริ่มมีภาระจากการสร้างครอบครัวของตัวเอง นั่นคือช่วงอายุ 31-40 ปี
ซึ่งจะเรียกว่าเป็นวัยสร้างครอบครัวกัน เพราะเป็นช่วงที่หน้าที่การงานเริ่มมั่นคง รายได้สูงขึ้นในขณะที่ค่าใช้จ่ายก็สูงตามไปด้วย อีกทั้งยังมีภาระต่างๆ ให้รับผิดชอบมากขึ้นไปอีก ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงาน การผ่อนรถ ผ่อนบ้าน ทำให้เรามีความสามารถรับความเสี่ยงได้น้อยกว่าช่วงเริ่มต้นของการทำงาน ดังนั้นจึงแนะนำให้ลงทุนในหุ้นประมาณ 50% ก็เพียงพอแล้ว ส่วนอีก 50% ก็นำไปลงทุนในตราสารหนี้หรือเงินฝากประจำก็ได้ เพื่อเป็นการลดระดับความเสี่ยงของพอร์ตลง
วัยที่สามของช่วงอายุเรา คือ วัยปึกแผ่นมั่นคง หรืออายุ 41-55 ปี
ซึ่งเป็นวัยที่อายุเริ่มมากขึ้น และเหลือเวลาเก็บออมหรือลงทุนได้ไม่กี่ปีก็เกษียณอายุการทำงานกันแล้ว เพราะฉะนั้นจึงต้องเน้นการลงทุนที่มีความปลอดภัยมากขึ้น ดังนั้นควรเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในตราสารหนี้ให้มากขึ้นเป็น 70% และที่เหลืออีก 30% จึงค่อยนำไปลงทุนในหุ้น เพื่อทำให้เงินออมของเราเพิ่มค่าได้มากขึ้น
วัยสุดท้ายของชีวิต หรืออายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
ซึ่งเป็นช่วงอายุที่เข้าสู่วัยเกษียณ เป็นช่วงอายุที่ต้องระมัดระวังการลงทุนให้มากที่สุด เพราะไม่สามารถลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงได้มากเหมือนวัยอื่นๆ เนื่องจากต้องเน้นเรื่องการรักษาเงินออมที่เก็บมาทั้งชีวิตเอาไว้ให้ได้ ดังนั้นเงินส่วนใหญ่หรือประมาณ 90% จึงควรที่จะนำไปเก็บไว้ตราสารหนี้ หรือแบ่งมาลงทุนในหุ้นไม่เกิน 10% เพราะว่าเราจะไม่มีรายได้เข้ามาเหมือนตอนที่กำลังทำงานอยู่ แถมด้วยว่าอาจจะมีรายจ่ายในการสุขภาพของตัวเองเข้ามาเพิ่มเติม ดังนั้นเงินที่มีอยู่จะต้องสามารถนำออกมาใช้จ่ายได้อย่างคล่องมือพอสมควร
บางคนอาจจะมีวิธีการจัดพอร์ตที่แตกต่างกันไป แต่ถ้าใครยังไม่มีไอเดียในการจัดพอร์ตการลงทุนของตัวเองก็อาจจะนำวิธีนี้ไปใช้ก่อนก็ได้นะครับ
CR. Moneyhub
#AsiaPlus #ASP #Stockmarket #ลงทุน #หุ้น #ตลาดหลักทรัพย์ #เอเซียพลัส #หลักทรัพย์